การรับประทาน “ยาฟ้าทะลายโจร”

การรับประทาน “ยาฟ้าทะลายโจร”

การรับประทาน “ยาฟ้าทะลายโจร”
โดย ภก. วุฒิเชษฐ รุ่งเรือง
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชสมุนไพรรสขมที่มีการใช้กันมานานในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการของโรคหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ในปัจจุบันเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีนักวิจัยสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมุนไพรฟ้าทะลายโจร โดยพบว่าสารสำคัญที่ชื่อว่า “แอนโดรกราโฟไลด์” (andrographolide) มีฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส จากผลการวิจัยดังกล่าวทำให้มีประชาชนจำนวนมากสนใจที่จะซื้อยาฟ้าทะลายโจร นำมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการของโควิด-19

ยาฟ้าทะลายโจรที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มี 2 รูปแบบ

  1. รูปแบบผงยา ซึ่งผงยาจะเตรียมจากส่วนเหนือดินของฟ้าทะลายโจร
  2. รูปแบบสารสกัด

โดยทั้ง 2 รูปแบบ จะพบได้ในลักษณะของยาแคปซูลหรือยาเม็ด โดยมีสิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือ สารสำคัญที่มีชื่อว่า “แอนโดรกราโฟไลด์” (andrographolide)  ที่จะมีระบุไว้บนฉลากยา ซึ่งในแต่ละผลิตภัณฑ์อาจมีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์  (andrographolide) แตกต่างกัน หากผลิตภัณฑ์ใดไม่ได้ระบุไว้ แนะนำให้สอบถามจากทางผู้ผลิต

ผู้ที่รับประทานยาฟ้าทะลายโจรได้มีใครบ้าง ?

  1. ผู้ที่มีอาการของโรคหวัด เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปในผู้ใหญ่จะแนะนำให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มี andrographolide 60 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง  ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน
  2. ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง ในผู้ใหญ่แนะนำให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรที่มี andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง  ติดต่อกัน 5 วัน อย่างไรก็ตามผู้ป่วย โควิด-19 ทุกคนควรใช้ยาฟ้าทะลายโจรภายใต้การดูแลของแพทย์

ผู้ที่รับประทานยาฟ้าทะลายโจรไม่ได้มีใครบ้าง ?

  1. ผู้ที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่นลมพิษ ปากบวม หน้าบวม หายใจไม่ออก
  2. หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
  3. ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี และต้องการรับประทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากยาฟ้าทะลายโจรไม่มีฤทธิ์ที่จะยับยั้งไวรัสเข้าเซลล์ จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้

วิธีเลือกยาฟ้าทะลายโจรที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย
ควรพิจารณาข้อมูลที่สำคัญบนฉลากยา ดังนี้

  1. เลขทะเบียนตำรับยาแผนโบราณ ที่ขึ้นต้นด้วยอักษรตัว G ทั้งนี้สามารถนำเลขทะเบียนดังกล่าวไปตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้
  2. ปริมาณสาร andrographolide และขนาดบรรจุ
  3. ข้อมูลของผู้ผลิต
  4. วันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่หมดอายุ

การเลือกซื้อยาฟ้าทะลายโจร ควรเลือกซื้อกับผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตขายยาแผนโบราณที่ถูกต้องตามกฏหมาย

ข้อควรระวังในการรับประทานยาฟ้าทะลายโจร

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต หากจำเป็นต้องใช้ยาฟ้าทะลายโจร ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • ผู้ที่รับประทานยาลดความดันโลหิต*
  • ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด* เช่น ยาวอร์ฟาริน (warfarin) 
  • ผู้ที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด* เช่น ยาแอสไพริน (aspirin)

*เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาฟ้าทะลายโจร อาจเสริมฤทธิ์กันได้ หากจำเป็นต้องใช้ ยาฟ้าทะลายโจร ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

การรับประทานยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง หากท่านรับประทานยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการรุนแรงขึ้น แนะนำให้หยุดใช้ และรีบปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ผู้ป่วยบางรายที่รับประทานยาฟ้าทะลายโจรอาจมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร เวียนศีรษะ ใจสั่น ซึ่งอาการเหล่านี้เมื่อหยุดรับประทานยาฟ้าทะลายโจร อาการจะค่อย ๆ หายเป็นปกติได้ หากท่านใดที่รับประทานยาฟ้าทะลายโจรแล้วสงสัยว่าจะแพ้ยาฟ้าทะลายโจร เช่น มีผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม หายใจไม่ออก ให้หยุดรับประทานทันที แล้วรีบพบแพทย์


เครดิต : คณะแพทยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
สืบค้นจาก : https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1481

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้